แชร์แนวข้อสอบสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
สังคมสงเคราะห์ … การเดินทางที่ไม่ยาก … แต่ก็ไม่ง่าย
ปพน จูน คิมูระ
ช่วงที่ผ่านมามีคำถามจากคุณผู้อ่านที่เข้ามาถามมากมายทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ การตั้งกระทู้ถามตามเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงการสังเกตผู้คนจากงาน Open House ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 จึงทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับเส้นทางที่พี่ได้เลือกและเดินทางจนประสบความสำเร็จ แต่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเดินทางเสียทีเดียว
“ชอบช่วยเหลือสังคม” “อยากช่วยลดการเหลื่อมล้ำ” และอีกหลายคำที่ผู้อ่านหลายคนเคยเล่าให้พี่ฟังไม่ว่าจะเจอกันในสื่อสังคมออนไลน์หรือในชีวิตปัจจุบันที่พี่จะชอบถามอยู่เสมอว่า “ทำไมอยากเข้าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์” แม้ว่าในสิ่งที่ผู้อ่านเหล่านั้นตอบจะเป็นคำตอบที่เรียบง่าย แต่บางครั้งมันแฝงด้วยความน่าสนใจและสะท้อนถึงปัญหาสังคมที่มีอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงนโยบายหรือปัญหาภายในครอบครัวที่จะต้องพัฒนา แก้ไข และ ดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยที่การทำงานในสายนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ “การจ่าย แจก จบ” ตามที่เข้าใจและมองเป็นบรรทัดฐาน แต่จริงๆแล้วมีบทบาทและความสำคัญไม่แพ้กับวิชาชีพอื่นเช่นกัน
ผู้เขียนเชื่อว่า ณ เวลานี้คงมีใครหลายคนเริ่มรู้ตนเองและมีความพร้อมที่จะเข้าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ทุกอย่างมีเงื่อนไขและกฎเกณฑ์เสมอในการเข้าศึกษาต่อคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แม้จะมองว่าเป็นคณะที่มีคนเข้ามาไม่มากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าการแข่งขันจะมีไม่มาก การแข่งขันคณะนี้ค่อนข้างพอสมควรจากประสบการณ์ของพี่รวมถึงการติดตามรุ่นน้องในหลายๆรุ่นจะเห็นได้ว่า การสอบความถนัดทางวิชาชีพ (การสอบข้อเขียน) เป็นรอบที่ได้รับความนิยมและมีการตั้งคำถามมากมายเช่น ข้อสอบยากไหม? เกรดจะถึงไหม? เราสอบอะไรบ้าง ? โดยภาพที่พี่ยกตัวอย่างแนวทางในการสอบนั้นพี่จะขอสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายจากตารางต่อไปนี้
สำหรับการเดินทางของพี่กับเส้นทางในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พี่มีความโชคดีหลายอย่างที่มีโอกาสได้เลือกทางเดินของตนเองแม้ว่าการเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์จะเป็นการเรียนอย่างคู่ขนานระหว่างทฤษฎีทางวิชาการ ทักษะการปฏิบัติงาน ที่มีการฝึกฝนทั้งในชั้นเรียนและการฝึกภาคปฏิบัติที่ไม่ใช่แค่การฝึกงานตามกรอบ แต่เป็นการทำงานจริงกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องในองค์กรที่ไปฝึกด้วย ดังนั้นพี่คิดว่า การเดินทางในเส้นทางนี้แม้จะมีกลุ่มเป้าหมายตามสาขาวิชาโท 6 สาขาได้แก่ (แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมที่เว็บไซต์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
1.วิชาโทการพัฒนาชุมชน
2.วิขาโทสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์
3.วิชาโทพัฒนาเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว
4.วิชาโทการบริหารงานยุติธรรม
5.วิชาโทการบริหารแรงงานและสวัสดิการ
6.วิชาโทสวัสดิการผู้สูงอายุ
แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้อ่านจะต้องเลือกเรียนสาขาวิชาโทในคณะเท่านั้น พี่เชื่อว่ามีหลายคนที่สนใจอยากศึกษาต่อในสาขาวิชาอื่นในคณะอื่นที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเช่น รัฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ฯลฯ ทุกคนสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่ต้องศึกษาให้ดีเกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างวิชา เงื่อนไขการศึกษาเพื่อเป็นวิชาโท เพราะบางครั้งจะมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่แต่ละคนต้องศึกษาเอง ส่วนตัวพี่ พี่เลือกเรียนวิชาโทสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและปรากฏการณ์ทางสังคมและทำให้พี่เข้าใจภาพที่กว้างขึ้นและสามารถประยุกต์กับการเรียนรู้ในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ทั้งในเชิงทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ผ่าน การฝึกงานที่จะต้องใช้ทักษะ ความรู้ และ การปรับตัวกับความหลากหลายที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกงานและการหาแรงบันดาลใจใหม่ๆอีกด้วย
จากประสบการณ์การเรียนรู้และฝึกงานระหว่างศึกษา ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ทำให้พี่เข้าใจภาพรวมที่มากกว่าภาพจำเดิมที่ผู้คนให้ความหมายว่า “เป็นการกุศลและการแจกของ” แต่กลับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและสามารถประยุกต์ได้ไม่ว่าคุณจะเข้ามาเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพหรือจะประกอบอาชีพอื่นๆเช่น นักพัฒนาสังคม นักวิจัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เจ้าหน้าที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงวิชาชีพอื่นๆที่สามารถออกไปปฏิบัติงานที่หลากหลาย สิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนรู้คือ “การทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมบนพื้นฐานความถูกต้อง” หากมองภาพจำอย่างง่ายที่ว่าด้วยเรื่อง การช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือการลงมือทำ ทุกสิ่งที่ที่กระทำไปต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะคนที่จะได้รับผลจากการตัดสินใจและการช่วยเหลือคือ “ประชาชน” ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมหรือตามกลุ่มเป้าหมาย พี่เชื่อว่า การเดินทางในถนนเส้นนี้ไม่ยากอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ได้ง่ายราวการโรยกลีบกุหลาบ เพราะเราต้องประยุกต์ศาสตร์และศิลป์ใน การทำงาน การเรียนรู้ และ การพัฒนาตนเองไม่ต่างจากอาชีพอื่น และพี่เชื่อว่า น้องที่สนใจเข้าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ทุกคนจะมีเป้าหมาย ความปรารถนา และ แรงบันดาลใจแล้ว แต่อยู่ที่ว่าตัวเราจะพัฒนาตนเองและฝ่าฟันเส้นทางอย่างไรเพื่อเข้ามาสู่ถนนเส้นนี้และก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็งและมีความหลากหลายในชีวิตที่สังคมเปลี่ยนแปลงและซับซ้อน
สุดท้ายนี้ พี่ขออวยพรให้น้องที่มีเป้าหมายและความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาต่อคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ มหาวิทยาลัยอื่นที่เปิดสอน (สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามอัธยาศัย) มีแรงปรารถนาและความตั้งใจที่ดีแล้วทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพราะพี่เชื่อว่า วิชาชีพนี้ยังมึคุณค่าและศักดิ์ศรีที่ไม่ใช่แค่การกุศลอย่างแน่นอน
แนะนำ : แหล่งความรู้ที่น่าสนใจ เผื่อผู้อ่านท่านไหนสนใจนะครับ
1.http://socadmin.tu.ac.th (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
2.http://swpc.or.th/ (สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์)
โชคดี…และพบกันใหม่ตอนหน้าครับ
P’Jun