เขียนตอบข้อสอบ (เรียงความ) อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ : จากประสบการณ์การสอบรับตรงคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (สมัยพี่จูน #DEK57 = เทียบเท่ารอบที่ 3 ในปัจจุบัน)
By P’Jun
ปัจจุบันยอมรับว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามสนามต่างๆน้องส่วนมากจะเจอข้อสอบแบบปรนัยทั้งแบบ 4 ตัวเลือกและ 5 ตัวเลือกที่จะต้องอาศัยความเร็ว ความแม่นยำ และ ความชัดเจนที่จะต้องอ่านคำตอบและเลือกตอบเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนที่จะเป็น "ลมหายใจ" และ "โอกาส" ในคณะ/มหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน
แต่ทว่า .... ยังมีอีกหลายแห่งที่ยังไม่เพียงแค่การสอบปรนัยเพียงอย่างเดียวที่นอกจากจะวัดสิ่งที่พี่กล่าวไปตอนต้น ยังมีการสอบอีกอย่างหนึ่งที่ใครหลายคนอาจคุ้นเคยตอนเรียนในชั้นเรียนแต่หลงลืมกันไปแต่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ "การสอบอัตนัย" ในรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนเรียงความที่ไม่ใช่แค่การเขียนเพื่อตอบให้ตรงกับคำถามกับสิ่งที่เขาต้องการแต่ยังมีประเด็นและเรื่องราวต่างๆที่น้องๆควรท้าทายตัวเองและพัฒนาศักยภาพเพื่อโอกาสและการเติบโตตอนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่โดยส่วนมากข้อสอบส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนตอบ
พี่ขอย้อนความทรงจำสมัยที่พี่สอบเข้ารับตรงคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปัจจุบันคือการสอบความถนัดทางวิชาเฉพาะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์) ณ ห้วงเวลานั้นในใจพี่ก็แอบคิดตอนอ่านระเบียบการว่า "มีสอบทั้งข้อกาและข้อเขียน" นั่นหมายความว่า เราต้องใช้ทักษะทั้งความจำ ความรู้พื้นฐาน และ ความเข้าใจที่ไม่ใช่แค่การกำหนดกรอบของตนเองที่จะต้องรู้ในสิ่งที่สำเร็จรูป แต่เราต้องประยุกต์ประเด็นและคำตอบต่างๆที่จะตอบให้มีเหตุผล มีข้อเท็จจริง และ สามารถประกอบเป็นเนื้อเดียวกันที่เชื่อว่าคนอ่านข้อสอบจะเข้าใจมุมมอง ความรู้ และ ประสบการณ์ในสิ่งที่เราเข้าใจ เพราะเราตอบในฐานะ "คนที่สนใจ" “คนที่เข้าใจเบื้องต้น” ไม่ใช่ "มืออาชีพ" ที่จะต้องรู้ลึก รู้ละเอียด เพราะถ้าคุณประมาทในการเขียนตอบเช่น การนำทฤษฎีเชิงลึกหรือตัวอย่างสถานการณ์ต่างๆมาอธิบายประกอบ แต่ถ้าเราไม่สามารถเชื่อมโยงหรือวิเคราะห์ให้ตรงกับบริบทของโจทย์ที่เกี่ยวข้อง แทนที่จะเป็นโอกาส แต่กลับเป็น “ความผิดพลาด” ที่สามารถทำร้ายตัวคุณเองโดยที่ไม่รู้ตัวได้เช่นกัน พี่เชื่อว่าหลายคนมีความตื่นเต้นและมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะเขียนเรียงความข้อนั้นให้ดีที่สุด แต่น้องๆต้องมีสติ ความรู้ และ เทคนิคที่ดีด้วย
สำหรับพี่เทคนิคในการเขียนเรียงความให้น่าสนใจและมีความสอดคล้องกับคำถาม/ประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ เราพยายามหาสาระสำคัญของประเด็นคำถามก่อนว่า คำถามหลักต้องการอะไร มีกี่คำถาม และ ลักษณะคำถามจะมีแบบไหนบ้างซึ่งลักษณะคำถามส่วนใหญ่ในการสอบเขียนเรียงความจะมี 3 รูปแบบ (สามารถนำไปใช้กับการสอบอย่างอื่นรวมถึงตอนที่จะเรียนปริญญาตรีในอนาคตได้) คือ
1. การวิเคราะห์และอธิบาย : เป็นการวิเคราะห์จากกรอบคำถามที่ผู้ออกข้อสอบต้องการให้ผู้สอบตอบให้ตรงประเด็นและมีความละเอียดในการขยายความให้เป็นรูปธรรม โดยส่วนมากจะมีหลายอย่างเช่น คำพูด กรณีศึกษา หรือ อาจจะถามทางตรง ซึ่งผู้สอบจะต้องหาประเด็นและเจาะลึกรายละเอียดสิ่งนั้นแล้วเรียบเรียงให้ลงตัว
2. การแสดงความคิดเห็น : ลักษณะคำถามนี้จะเจอได้ค่อนข้างบ่อยครั้งในปัจจุบันโดยจะเป็นลักษณะคำถามปลายเปิดที่ผู้สอบสามารถตอบได้ว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ แต่ต้องอธิบายและยกตัวอย่างสิ่งที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์ทั้งเชิงบวกและลบมาสนับสนุนเพื่อให้เกิดความน่าสนใจและสะท้อนถึงความรู้และความเข้าใจของเรา
3. แบบผสมผสาน : ลักษณะนี้มีความท้าทายที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เหมือนเป็นการนำรูปแบบที่ 1 และ 2 มาบูรณาการร่วมกัน สิ่งที่ต้องระวังคือ การที่เราจะต้องจัดระเบียบการเขียนทั้งส่วนเกริ่นนำ การอธิบายและการขยายความให้เหมาะสมซึ่งหลายครั้งที่ผู้สอบเกิดความสับสนในระหว่างเชื่อมโยงภายใต้การวิพากษ์และแสดงความเห็นผ่านชุดคำถามและความคิดของผู้สอบเอง ดังนั้นต้องตัดสินใจให้ดีในการตอบด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่พี่สังเกตและได้รับคำถามจากน้องหลายคนไม่ว่าจากในเพจพี่ (สรุปสังคม ม.ปลาย 4.0 By P'Jun) หรือที่ติดตามตามกลุ่มการศึกษาคือ "ต้องเขียนกี่หน้า/เขียนมากหรือน้อย" คำตอบสำหรับพี่คือ "แล้วแต่จะเขียน" กล่าวคือ ไม่ว่าคุณจะเขียนสั้นแค่ 1 หน้า หรือ เขียน 2-3 หน้า (ถ้าสามารถเขียนได้และบริหารเวลาทัน) ก็สามารถทำได้หากคุณมั่นใจว่าสิ่งที่เขียนมันตอบโจทย์ ชัดเจน และสอดคล้องกับประเด็น เพราะท้ายที่สุดแล้วเวลาตรวจข้อสอบสิ่งที่เขาวัดคือ ความถูกต้อง ความสอดคล้องของโจทย์ รวมถึง ความเป็นตัวเรา เพราะถ้าเขียนมาก แต่ไม่มีสาระก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องตอบให้ฟุ่มเฟือย แต่ต้องระวัง!!!ให้ดีนะว่าบางสนามสอบอาจจะกำหนดว่า "เขียนได้ไม่เกินกี่หน้า" หากเลยกำหนดจะไม่อ่านในหน้าที่เกิน ดังนั้นถ้าเงื่อนไขออกมาแบบนี้น้องๆจะต้องบริหารจัดการและวางแผนให้ดีเช่นกันว่าจะทำอย่างไรให้มันลงตัวและได้สาระที่ครบถ้วนอีกด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น พี่จะขอสรุปผ่านตารางต่อไปนี้เพื่อเป็นทางเลือกและแนวทางสำหรับการเตรียมตัวของพวกคุณสำหรับการสอบไม่ว่าจะเป็นสนามใดก็ตาม
ก่อนจะจากกัน พี่อยากบอกว่า การเขียนเรียงความดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะต้องสะท้อนความคิดและประสบการณ์ผ่านการวิเคราะห์ เชื่อมโยง และ สื่อความ แต่ถ้าเราฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและมีความมั่นใจในตนเอง เราก็สามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี และอย่าลืม ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องในการเขียนคำด้วย เพราะเป็น "ความใส่ใจ" ที่เป็นเสน่ห์ของกันและกัน
เป็นกำลังใจให้สำหรับคนที่จะต้องสอบเรียงความสนามตามสนามต่างๆโดยเฉพาะน้องที่สนใจบางคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นะครับ .... มาเป็นรุ่นน้องนะ