ปพน จูน คิมูระ (พี่จูน)
จากการสอบวิชาเฉพาะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (2563) ที่ผ่านมาพี่ได้รับเสียงสะท้อนในมิติที่หลากหลายทั้งความง่าย ความกำกวม ความซับซ้อน และ ความไม่แน่ใจในคำตอบซึ่งในการสอบวิชาเฉพาะนั้นสิ่งที่ถูกคาดหวังไม่ใช่เพียงแค่การเข้ามาเพื่อจะเตรียมเรียนในคณะนี้ แต่ต้องมีรากฐานและความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางสังคม ความรู้เบื้องต้นและภาพจำที่เหมาะสม รวมทั้งปัญหาและแนวทางการพัฒนาภายใต้ประสบการณ์และการต่อยอดในทิศทางที่ควรจะเป็น
ถ้าใครได้ติดตามในสิ่งที่เคยสื่อสารเกี่ยวกับแนวทางการตรวจข้อสอบและการยื่นคะแนนสำหรับคนที่จะเข้าศึกษาต่อไม่ว่าจะเป็นศูนย์รังสิตหรือศูนย์ลำปาง ผู้เขียนอยากให้ย้อนความทรงจำของตนเองเกี่ยวกับคะแนนและความเสี่ยงที่ตัดสินใจสำหรับการยื่นเข้าคณะนี้หลายคนอาจคิดว่าการยื่นเข้าศึกษานั้นจะใช้คะแนน GAT และ การสอบวิชาเฉพาะที่พวกคุณสอบกันไปแล้วแต่โอกาสที่จะติดหรือไม่นั้นผู้เขียนได้รับคำถามและความกังวลใจจากใครหลายคนเช่นกันเพราะบางคนมีความมั่นใจในตนเองผ่านประสบการณ์และการตอบอย่างมีความมั่นใจ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่กดดันและมีความลังเลใจผ่านการตัดสินใจและเรียบเรียงคำตอบรวมถึงคะแนนที่จะนำมาใช้ว่ามีความเพียงพอหรือไม่อย่างไร ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะนำประสบการณ์และแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาเป็นบทวิเคราะห์ร่วมกันในการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์และบริบทที่เกิดขึ้น
(ณ บทความนี้เผยแพร่คือมีการสอบวิชาเฉพาะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว)
สัดส่วนคะแนนในการยื่นใน
ระบบ My TCAS ของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นจะใช้คะแนนสอบวิชาเฉพาะ 70 % และ คะแนนสอบ GAT 30 % (แต่เกรดเฉลี่ย 6 เทอมต้อง 2.50 ขึ้นไป) ดังนั้นในการคำนวณอยากให้เข้าใจโดยง่ายว่า ถ้าคุณสามารถสอบ GAT ได้เต็ม 300 คะแนน คุณจะได้ 30 % เต็มในส่วนนั้นซึ่งหมายความว่าโอกาสที่จะสามารถเข้าศึกษาต่อในคณะนี้จะมีค่อนข้างสูงหากคุณสามารถทำคะแนนสอบวิชาเฉพาะได้อย่างน้อย 45 % จากคะแนนทั้งหมด อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วจากที่สังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัวและที่ได้ติดตามสถานการณ์การสอบในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนและเป็นบทเรียนสำหรับการสอบวิชาเฉพาะในครั้งต่อไปนั้นมี 2 ประเด็นที่สำคัญคือ
1.การบริหารเวลา : ปัญหานี้เป็นปัญหาหลักที่เด็กจำนวนไม่น้อยประสบกับการทำข้อสอบจำนวนข้อที่ค่อนข้างมากและมีความหลากหลาย กำกวม และ ซับซ้อนในประเด็นและรายละเอียดของข้อสอบ ซึ่งในการทำข้อสอบนั้นคุณสามารถเลือกได้ว่าจะทำในส่วนของปรนัยหรือข้อสอบเรียงความก่อนโดยแนะนำให้วางแผนและจัดระเบียบตามความถนัดที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งสิ่งที่จะต้องมีอยู่ในใจเสมอคือ ความรู้พื้นฐานจากคำว่า
“สังคมสงเคราะห์” “สวัสดิการสังคม” “นโยบายและปัญหาสังคม” รวมถึงการประยุกต์และบูรณาการความรู้ภายใต้รูปแบบโจทย์ เงื่อนไข และข้อจำกัดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
2.การประยุกต์ทักษะและการตัดสินใจ : ประเด็นนี้ผู้เขียนมองว่ายังเป็นปัญหาและเป็นหนึ่งในทักษะที่ควรได้รับการฝึกฝนทั้งทักษะการเชื่อมโยง การคิดอย่างมีวิจารณญาณ รวมทั้งการจัดระบบความคิดเพราะในการเขียนเรียงความนั้นยังมีหลายคนเชื่อในเรื่องของปริมาณที่เขียนมากกว่าคุณภาพและการเชื่อมโยงความรู้ ซึ่งในการเขียนเรียงความนั้นสิ่งที่วัดไม่ใช่จำนวนหน้าที่เขียนว่าจะเขียนได้กี่หน้าและตอบอะไรไป แต่เป็นการที่คุณรู้ว่า คำถามนั้นมีกี่ข้อในหนึ่งประเด็นและเราจะเชื่อมโยงอย่างไรให้ลงตัวและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนั้นทักษะการบูรณาการความรู้ การเชื่อมโยง และ การตัดสินใจอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งจำเป็นและเชื่อว่ายังมีผลต่อการเรียนรู้และการเขียนเรียบเรียงในตัวเรียงความ ซึ่งสิ่งนี้พวกคุณสามารถนำไปต่อยอดได้ตอนเรียนในระดับปริญญาตรีและในการใช้ชีวิต
อย่างไรก็ตามสำหรับการยื่นคะแนนของรอบที่ 3 นั้นอยากให้พิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะด้วยจำนวนรับที่ไม่มากนักและมีการเกาะกลุ่มคะแนนพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่อยากให้คุณประเมินถึงจำนวนคู่แข่งและคะแนนที่ได้จริงว่าโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อใม่ว่าจะศูนย์ลำปางหรือรังสิตนั้นจะเป็นไปในทิศทางไหนได้บ้าง ซึ่งโดยปกติแล้วคะแนนที่ยื่นในศูนย์รังสิตจะมีอัตราที่สูงกว่าและมีจำนวนที่รับที่มากกว่าศูนย์ลำปางประมาณ 10-20 % อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่าคนที่จะยื่นเข้าศูนย์ลำปางคะแนนจะไม่สูง เพราะถ้ามีใครที่ได้คะแนนสอบวิชาเฉพาะค่อนข้างสูงและประกอบกับคนที่ได้นั้นมีหลายคน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ก็ย่อมมีมากเช่นกัน เพราะจำนวนประชากรที่ศูนย์ลำปางที่สามารถรับได้นั้นมีน้อยกว่ารังสิต
แล้วคะแนนเท่าไรละ…ถึงจะติด (?)
คำถามนี้เป็นคำถามที่พี่ไม่ค่อยชอบเท่าไรนักหากคุณมาถามในช่วงก่อนสอบเข้า เพราะหน้าที่ของคุณคือ ควรเตรียมความพร้อมและทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ แต่คะแนนที่ใช้นั้นมีผลอย่างมากในการยื่นเข้า ดังนั้นผู้เขียนจะขอประเมินจากประสบการณ์และโอกาสที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สื่อสารในบทความนี้ไม่ใช่บทสรุปที่ชัดเจนว่าจะเป็นสิ่งที่ตัดสินว่าคุณจะสามารถเข้าศึกษาได้หรือไม่ โดยพี่ขออธิบายผ่านตารางต่อไปนี้
ประเด็นต่อมาที่ขอกล่าวถึงคือ โอกาสข้างต้นที่ได้กล่าวไปนั้นจะสามารถนำมาต่อยอดในการยื่นที่ไหนมากกว่ากัน (?) … โดยความคิดเห็นของผู้เขียนต่อประเด็นนี้ ผู้เขียนมองถึงการเกาะกลุ่มของประชากรที่ยื่นในระบบ My TCAS ที่จะมีคะแนนเกาะกลุ่มโดยมากแล้วจะเกาะกลุ่มในระหว่าง 50-60 % (ในส่วนวิชาเฉพาะ) ดังนั้นสิ่งที่จะสามารถตัดสินได้ว่าใครมีโอกาสมากกว่ากันคือคะแนนสอบ GAT ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง รวมถึงการติดตามในระบบ My TCAS ว่าจะมีการแรนดอมคณะและอัตราการแข่งขันในทิศทางใดด้วยเพราะในระบบคุณสามารถเลือกได้มากกว่า 1 คณะ ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวมองว่า ถ้าใครมีคะแนนสอบวิชาเฉพาะตั้งแต่ 45 % ขึ้นไปจะเริ่มมีโอกาสในการเข้าคณะนี้ได้ แต่ถ้าจะให้มีความแน่ใจและสามารถยืนยันว่าสามารถเข้าได้จริงควรทำให้ได้ไม่ต่ำกว่า 60% และควรมีคะแนนสอบ GAT ไม่ต่ำกว่า 200 แต่ถ้าคะแนนต่ำกว่า 200 คะแนนนั้นอาจจะมีโอกาสได้แต่จะเป็นศูนย์ลำปางที่จะมีโอกาสมากกว่าที่ศูนย์รังสิต เว้นเสียว่าคุณจะสามารถทำข้อสอบวิชาเฉพาะและได้คะแนนค่อนข้างสูงเช่น 65 % เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดีสิ่งที่อยากสื่อกับพวกคุณสำหรับแนวทางในการตัดสินใจ คือ เมื่อคุณรู้เป้าหมายตนเองและทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ผ่านการสอบวิชาเฉพาะแล้ว อยากให้สะท้อนตัวเองและกลับมาถามใจตนเองอีกครั้งว่าเรามีความพร้อมและความเข้าใจกับตนเองอย่างไรกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และเราพร้อมหรือไม่ที่จะทำงานเพื่อสังคมบนความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สิ้นสุด