เรียนเกี่ยวกับอะไร
สังคมสงเคราะห์เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือคน/กลุ่มคนภายใต้เครื่องมือและกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลือและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุข โดยเป็นการเรียนรู้ทั้งในทางทฤษฎี กระบวนการที่เกี่ยวข้อง การวิจัยและพัฒนาตามยุคสมัย รวมทั้งการฝึกฝนทักษะการปฏิบัติงานเพื่อนำไปต่อยอดกับกลุ่มเป้าหมายและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยการเรียนคณะนี้นอกจากการเรียนทฤษฎีและวิวัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านสังคมสงเคราะห์แล้ว จะต้องมีการพัฒนาตามสภาพบริบท สิ่งแวดล้อม เครื่องมือ และ ความต้องการที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ปัญหา และ ความท้าทายที่เกิดขึ้น ทั้งการแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาพื้นที่สาธารณะ ความไม่เท่าเทียมกันและความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ รวมถึงปัญหาคุณภาพชีวิตทั่วไปที่มีได้ตามแหล่งที่อยู่อาศัย (ชุมชน) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เท่าทันและสามารถขับเคลื่อนสังคมทั้งในมิติปัจเจกบุคคลและในระดับนโยบายที่มีความสัมพันธ์ทั้งในและระหว่างประเทศ
ปี 1 เรียนเกี่ยวกับ
- การศึกษาทั่วไปเกี่ยวกับมนุษย์ สังคม และ พลเมือง ภายใต้ทักษะและกระบวนการจัดการที่เกี่ยวข้องทั้งการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์และสื่อความ
- การมองภาพรวมและบริบทในสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งในทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ในสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายและมีการทำหน้าที่ร่วมกัน
- แนวคิด ทฤษฎี และพัฒนาการของงานสังคมสงเคราะห์โดยเป็นการศึกษาความรู้พื้นฐานควบคู่กับการศึกษาพัฒนาการความเป็นมนุษย์ตั้งแต่รากฐาน ความต้องการท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีอย่างต่อเนื่องโดยมีการประยุกต์จากนักคิดทฤษฎี นักสังคมสงเคราะห์ (ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน) เป็นต้น
ปี 2 เรียนเกี่ยวกับ
- การเจาะรายละเอียดในเชิงลึกที่เกี่ยวกับวิชาชีพและรูปแบบงานสังคมสงเคราะห์ที่อาศัยการต่อยอดทฤษฎีทางสังคมสงเคราะห์ควบคู่กับทฤษฎีอื่นๆที่เกี่ยวข้องภายใต้กระบวนการและรูปแบบการทำงานทางสังคมสงเคราะห์ทั้งแบบเฉพาะราย และ กลุ่มบุคคล
- การศึกษาเกี่ยวกับจริยธรรม คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และค่านิยมทางวิชาชีพสำหรับการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
- การศึกษาแนวคิดและวิวัฒนาการของระบบสวัสดิการสังคมและการคุ้มครองทางสังคมที่มีองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น สิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมต่างๆที่เกี่ยวข้อง
- การศึกษารูปแบบสังคมที่มีองค์ประกอบต่างๆเช่น รูปแบบสังคม ปัญหาสังคม รวมถึง เครื่องมือและแนวทางในการแก้ปัญหาสังคมผ่านทฤษฎีทางสังคมและการประยุกต์ใช้ความรู้อื่นๆเช่น สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา ฯลฯ
- การฝึกฝนทักษะในเบื้องต้นในการดำเนินกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ เช่น การให้คำปรึกษา การทำวิจัยทางสังคมสงเคราะห์ รวมถึงการศึกษาดูงานองค์กรที่ดำเนินกระบวนการข้างต้นโดยศึกษาในองค์กรที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐบาล องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยศึกษาทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติงาน
ปี 3 เรียนเกี่ยวกับ
- เป็นช่วงที่มีการศึกษาที่เข้มข้นมากขึ้นและมีการขยายฐานคิดและประสบการณ์ในการเรียนรู้จากการฝึกงานครั้งแรก (ช่วง Summer ของ ปี 2)
- การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้องภายใต้นโยบายสวัสดิการสังคมและการปฏิบัติงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งกระบวนการคิด กลยุทธ์การจัดการ ระดับในการบริหารจัดการภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเห็นได้จากการบริหารจัดการ การเขียนโครงการ และ การดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ
- เป็นช่วงที่มีการศึกษาวิชาโท (ตามความสนใจที่จะนำไปสู่ความชำนาญในสาขาต่างๆ : มี 6 สาขา โดยที่คุณสามารถเลือกวิชาโท 1 สาขา หรือ มากกว่า 1 สาขาได้ จะได้โทเสรีไป แต่ต้องเรียนให้ครบตามเงื่อนไข)
- เป็นช่วงที่ผู้เรียนจะเริ่มมองเห็นภาพกว้างและการเจาะลึกที่มีการเชื่อมโยงในตัวงานสังคมสงเคราะห์และความเป็นสหสาขาที่ผู้ศึกษาอาจจะสนใจร่วมกับศาสตร์อื่นๆได้ผ่านการเลือกวิชาเรียนเพิ่มเติม (ตามเงื่อนไขของหลักสูตร)
- สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเรียนวิชาโทนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนโทในคณะหรือวิชาโทนอกคณะ (แต่ถ้าจะโทนอกคณะต้องศึกษาเงื่อนไขของคณะปลายทางด้วย) ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นขอให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากทางมหาวิทยาลัยที่สนใจ
ปี 4 เรียนเกี่ยวกับ
- เป็นช่วงที่มีการศึกษาวิชาโท (ตามความสนใจที่จะนำไปสู่ความชำนาญในสาขาต่างๆ : มี 6 สาขา โดยที่คุณสามารถเลือกวิชาโท 1 สาขา หรือ มากกว่า 1 สาขาได้ จะได้โทเสรีไป แต่ต้องเรียนให้ครบตามเงื่อนไข)
- การประมวลความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (ในช่วงที่ผ่านมา) มาบูรณาการร่วมกับความรู้ ประเด็นทางสังคม และ มาตรฐานทางวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประกอบวิชาชีพหรือการดำเนินชีวิตในสังคม
สิ่งที่ต่อยอดในการเรียนรู้ (ตัวอย่าง)
- ความเสมอภาคทางเพศ , เพศสภาพและเพศวิถี , การเปรียบเทียบวิวัฒนาการด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมทั้งในประเทศ ระหว่างภูมิภาคและต่างประเทศ
- ดัชนี/สถิติข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆเช่น รายได้ประชาชาติ เส้นความยากจน GDP GNP งบประมาณแผ่นดิน ฯลฯ
- ระบบการปกครอง และ สภาพสังคมโดยทั่วไปที่มีผลต่อการตั้งถิ่นฐาน การขับเคลื่อนสังคม และ ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนาการทางสังคมในด้านต่างๆเช่น กฎหมาย การเข้าถึงสิทธิ์ การรวมตัวกัน การปกป้องตนเอง รวมทั้งการกระจายอำนาจสู่การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรและชุมชนภายใต้หลักประกันและการรักษาเสถียรภาพในด้านต่างๆ
- ความเท่าเทียมทางสังคมโดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ การเคารพคุณค่าและให้เกียรติในความเป็นมนุษย์
- ประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน นำมาซึ่งข้อเรียกร้องและความยุติธรรมในฐานะที่เป็น “มนุษย์” และ “พลเมือง”
- ความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆที่นำไปสู่ปัญหาและความขัดแย้งนับแต่อดีตจนปัจจุบัน
- บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น สวัสดิการสังคม ประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ
- การคุ้มครองแรงงานและการสร้างหลักประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตและในระบบแรงงาน
- การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการรับโอกาสทางการศึกษาและได้รับการสนับสนุนตามกฎหมายและการพัฒนาศักยภาพ
- สิทธิที่จะมีชีวิตรอด การได้รับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและการจัดสวัสดิการอื่นๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมทั้งการได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรม
- ความช่วยเหลือในยามทั่วไปและในภาวะฉุกเฉินเช่น การจัดการภัยพิบัติ การถูกทำร้าย การลิดรอนสิทธิ์ ฯลฯ
สาขาวิชาโทที่เปิดเรียน : 6 สาขา
- วิชาโทสังคมสงเคราะห์ในกระบวนการยุติธรรม
- วิชาโทสังคมสงเคราะห์สุขภาพและการแพทย์
- วิชาโทการพัฒนาเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว
- วิชาโทสวัสดิการผู้สูงอายุ
- วิชาโทการบริหารแรงงานและสวัสดิการ
- วิชาโททางการพัฒนาชุมชน
การฝึกงาน (ภายใต้หลักสูตร)
- การฝึกงานครั้งที่ 1 ( Summer ปี 2) : เป็นการฝึกงานที่ผสมผสานระหว่างการทำงานแบบเฉพาะรายและแบบกลุ่มชนตามองค์กรต่างๆที่ไปฝึก โดยต้องประยุกต์ทักษะ กระบวนการ และ วิธีการทำงานทางสังคมสงเคราะห์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งตัวเอง ผู้รับบริการ และ องค์กรนั้นๆ
- การฝึกงานครั้งที่ 2 (Summer ปี 3) : เป็นการฝึกงานในชุมชนโดยจะเป็นการประยุกต์ทักษะ วิถีคิด และ เครื่องมือที่ได้รับจากการศึกษารวมถึงประสบการณ์การฝึกงานในครั้งแรก โดยเป็นการมองโดยรอบด้านภายใต้หลักการ การมีส่วนร่วมและการพัฒนาที่เกิดขึ้น
- การฝึกงานครั้งที่ 3 (ปี 4 เทอม 2) : เป็นการประยุกต์แบบผสมผสานภายใต้การทำโครงการทางสังคม (Project Base) ที่มีการเชื่อมโยงศาสตร์และศิลป์รวมถึงนโยบายและการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้เงื่อนไขและความท้าทายทั้งปัจจัยภายในและภายนอก
ประสบการณ์ของพี่จูน (หลักสูตรที่พี่เรียนเป็นหลักสูตรเก่านะครับ : หลักสูตร 2556)
- ปี 1: เป็นการเปิดประตูทางความคิดและมุมมองที่เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของงานสังคมสงเคราะห์ผ่านทฤษฎี นักคิด กระบวนการสังคมสงเคราะห์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่ยากมาก แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ การอ่านและทำความเข้าใจ
- ปี 2 : เริ่มลงรายละเอียดมากขึ้นทั้งในเชิงทฤษฎี ความรู้ด้านสวัสดิการสังคมและการคุ้มครองทางสังคม ณ จุดนี้จะต้องเริ่มหาความสนใจเฉพาะด้านที่จะนำไปสู่การต่อยอดในรายละเอียดที่สนใจในปี 3 ซึ่งจะเห็นได้ชัดขึ้นผ่านการศึกษาดูงาน ตามหน่วยงานต่างๆและการฝึกงานครั้งแรก (ตามหลักสูตรปัจจุบัน : แต่สมัยที่พี่จูนเรียนนั้นฝึกงานครั้งแรกตอนปี 3) ซึ่งในการฝึกงานนั้นจะได้ประยุกต์ความรู้ทั้งเชิงทฤษฎี ระบบการจัดการองค์กร และ รูปแบบการทำงานต่างๆผ่านการปฏิบัติงานจริงกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง
- ปี 3 : เป็นช่วงที่จะเห็นถึงความหลากหลายและความสัมพันธ์ตามบริบทของรูปแบบงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นจากประสบการณ์ในองค์กรต่างๆไปสู่การเรียนรู้การดำเนินกระบวนการกับชุมชนและศึกษาในสาขาวิชาโทตามความสนใจที่เน้นไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ลักษณะของงานที่มีความชำนาญมากขึ้น ซึ่งเลือกได้ว่าเรียนวิชาโทในคณะหรือนอกคณะก็ได้ (ส่วนตัวพี่จูนเรียนวิชาโทสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา)
- ปี 4 : เป็นการประยุกต์ศาสตร์และศิลป์ทั้งความรู้ ทักษะ กระบวนการ และ ประสบการณ์ไปสู่ความสร้างสรรค์ที่หลากหลายในการมองบริบทของรูปแบบงานสังคมสงเคราะห์ที่หลากหลายและมีความสร้างสรรค์มากขึ้นภายใต้การจัดโครงการ
"พี่มองว่าการเรียนสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เป็นการเรียนแบบผสมผสานทั้งการเรียนทฤษฎีทางวิชาการ การเรียนวิจัยและพัฒนาร่วมกันตามกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาในด้านต่างๆที่มีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้อง รวมทั้งการประยุกต์ทักษะต่างๆไม่ว่าจะเป็น การถาม การวิเคราะห์ การฟัง การประเมินความเสี่ยง รวมถึง การประสานงาน ฯลฯ ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้สนใจอาจจะมองได้ว่าการทำงานนั้นเราไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่ต้องประสานและร่วมมือกับวิชาชีพอื่นเช่น นักทัณฑวิทยา แพทย์ พยาบาล ครู นักจิตวิทยา ตำรวจ นักจัดการทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ เพื่อให้การทำงานสามารถเกิดความสำเร็จและเป็นประโยชน์สูงสุดทั้งตัวเราเอง องค์กร และ ผู้รับบริการ ดังนั้นความยากอาจจะมีบ้าง แต่สิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดคือ เราจะทำอย่างไรในฐานะผู้สนใจที่จะค่อยเรียนรู้ ฝึกฝน และ พัฒนาตนเองไปสู่การฝึกทักษะในสนามจริงที่ทุกอย่างไม่มีรีรันและผิดพลาดไม่ได้ แม้ว่าความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนที่ดีในการปรับปรุงตัวแต่บางครั้งความผิดพลาดคือ ความเสียหายที่มีความซับซ้อนทั้งตัวผู้รับบริการ องค์กร และ ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นที่เราบอกว่าเราช่วยเขาแต่กลับทำให้เป็นปัญหามากกว่าเดิม และอีกอย่างคือ การจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่บางครั้งต้องเจอกับความท้าทายบนบรรทัดฐานทางวิชาชีพที่จะต้องแยกแยะความสัมพันธ์และการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดและเหมาะสมกับกาลเทศะ"
ข้อแนะนำ (สำหรับน้อง ม.6 และ เด็กซิ่ว)
- ลองเปิดใจกับคำว่า
“จิตอาสา” “จิตสาธารณะ” และ
“การช่วยเหลือสังคม” ว่ามีความสัมพันธ์และมีความเข้าใจอย่างไรในภาพจำของเรา
- ลองนึกภาพคำว่า
"สังคมสงเคราะห์” โดยแนะนำให้แยกคำแล้วลองคิดว่า สิ่งที่เข้าใจนั้นคือภาพจำเดิมที่เป็นเพียงแค่การแจกของหรือไม่ ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใช่แค่นั้น
- เราพร้อมที่จะเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น และ มีเหตุผลกับสิ่งที่เรียกว่า
“ความถูกใจ” “ความถูกต้อง” และ
“ประโยชน์ต่อส่วนรวม” ได้อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในเรื่องนวัตกรรม วิถีคิด และ ความต้องการที่ไม่สิ้นสุด
- มองสิ่งรอบด้านไม่ว่าจะเป็น
สิทธิพื้นฐาน สิ่งที่ใช้บริการในทุกๆวัน ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และเรามีความคิดอย่างไรที่อย่างน้อยเราจะมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมในอนาคตรวมทั้งติดตามประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆด้วย
REFERENCE : สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ (ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน)
-
https://socadmin.tu.ac.th/uploads/socadmin/pdf/courseBachelor2563.pdf (หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563)
-
https://www.swpc.or.th (สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ : ผู้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ.2556)
-
http://www.swhcu.net (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ)
-
http://huso.pn.psu.ac.th/th/Data/Cirriculum/BA/Brochure/human_BSW.pdf (สาขาสังคมสงเคราะห์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)
จริงๆแล้วปัจจุบันมีเปิดสอนในหลายๆที่ สามารถศึกษารายละเอียดและเทียบข้อมูลได้หากใครที่ต้องการจะประกอบอาชีพนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ (เพราะตามกฎหมายจะมีเงื่อนไขบางอย่างอยู่)