สังคมสงเคราะห์ กับชีวิตประจำวัน



พี่อยากตั้งคำถามหนึ่งกับคุณผู้อ่านว่า “ในความคิดของคุณ…คุณเข้าใจกับคำว่าสังคมสงเคราะห์อย่างไรบ้าง” จากที่เคยกล่าวไว้ในหลายตอนที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องภาพจำ ความเข้าใจ และ สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่พี่ให้นิยามความหมายว่า “นักสังคมสงเคราะห์เปรียบเสมือน “วิศวกรทางสังคม” ที่คอยออกแบบ ติดตาม และ ให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งในยามสุขและยามทุกข์ภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่คือ “สวัสดิการสังคม” และกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง
 

พี่เชื่อว่าจากบทความตอนที่ผ่านๆมา ผู้อ่านหลายคนคงเริ่มเข้าใจความหมายและรูปแบบการทำงานภายใต้กระบวนการสังคมสงเคราะห์ที่มีความสัมพันธ์ทั้งในเชิงปัจเจกบุคคลและเชิงนโยบายที่มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องและสนองความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด แม้สิ่งที่จัดสรรและดำเนินอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการรูปแบบต่างๆเช่น เงินสงเคราะห์ สิทธิ์การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ หรือ เงินอุดหนุนต่างๆจะสามารถช่วยเหลือคนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนได้ แต่ทว่า … เป็นสิ่งที่รัฐต้องทำเพื่อให้เป็น “หลักประกัน” และ “กำแพง” ที่ให้คนพักพิงได้ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะต้องการหรือไม่




จากภาพดังกล่าว พี่อยากให้คุณผู้อ่านได้คิดตามจากคำถามที่พี่ตั้งไว้ในตอนต้น พี่เชื่อว่าจากคำถามดังกล่าวอาจจะเริ่มเห็นคำตอบกันบ้างแล้วว่า สังคมสงเคราะห์มีความสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนอย่างไรโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องนิยามเฉพาะกลุ่มว่า “เป็นสิ่งที่สนองความต้องการเฉพาะคนยากจน” เพราะงานสังคมสงเคราะห์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือคนยากจนเท่านั้น แต่ทุกคนล้วนสามารถที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานรวมถึงสิทธิต่างๆที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันได้ตามที่กฎหมายระบุ แม้ว่าความช่วยเหลือหรือรูปแบบที่เกิดขึ้นนั้นจะถูกใจหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นงานสังคมสงเคราะห์ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพียงแค่ว่า ภาพจำ และ คำนิยาม ที่ถูกส่งต่อจากอดีตสู่ปัจจุบันยังฝังลึกในความรู้สึกและค่านิยมที่มองภาพลักษณ์ของคำว่าสังคมสงเคราะห์ที่หลากหลายมุมมอง แต่ในบางครั้ง ไม่ใช่เพราะคำว่า “สังคมสงเคราะห์” และ “สวัสดิการสังคม” หรอที่เข้ามามีบทบาทและความสัมพันธ์ในยามฉุกเฉินหรือยามยากของพวกคุณเช่น การเข้ารับการรักษาพยาบาลในยามฉุกเฉินที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือและอุดหนุนเพราะอย่างน้อยที่สุด คุณต้องได้รับการรักษาพยาบาลในยามฉุกเฉินเพื่อให้คุณมีชีวิตรอดและทำประโยชน์ให้กับคนในสังคม หรือ เงินสงเคราะห์ฉุกเฉินที่เข้ามาช่วยเหลือในยามที่คุณประสบปัญหาเช่น การถูกทอดทิ้ง การประสบเหตุที่ไม่คาดคิด เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า “อะไรจะเข้ามาและผ่านไปในชีวิต”



จากภาพนี้ พี่ต้องการขยายความให้คุณผู้อ่านได้มองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ลองทบทวนตนเองหรือถามคนใกล้ชิดของคุณว่า สิ่งเหล่านี้รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคือสิ่งที่เข้ามาสนับสนุนคุณภาพชีวิตหรือไม่ แม้จะต้องแลกด้วยเงื่อนไขต่างๆเช่น ภาษี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ฯลฯ แต่อย่างน้อยการมีสวัสดิการหรือสิทธิ์ต่างๆที่ได้รับการคุ้มครองและสนับสนุนคุณภาพชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์พื้นฐานที่อย่างน้อยคุณควรได้ “ความเหมาะสม ความปลอดภัย และ ความเท่าเทียม” แม้ปัจจุบันรูปแบบบริการต่างๆที่มีในสวัสดิการคุณสามารถที่จะเลือกได้ตามฐานะทางเศรษฐกิจ แต่อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้คือ สวัสดิการสังคมเปรียบเสมือน กำแพง  ที่รอให้คนมาพึ่งพิงทั้งยามสุขและยามทุกข์และเปรียบเหมือน เพื่อนแท้ ที่เคียงข้างคุณได้เสมอ
 

กล่าวโดยสรุปแล้วงานสังคมสงเคราะห์เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพทางสังคมแบบใด สิทธิ สวัสดิการ และ ความช่วยเหลือพร้อมที่จะส่งต่อและเคียงข้างคุณเสมอ ภายใต้เงื่อนไขทั้งสถาบันทางสังคม โครงสร้าง และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องแม้ว่าคุณจะต้องทำหน้าที่ของตนเองตามบทบาท แต่อย่างน้อยคุณต้องมีอะไรที่เข้ามาเป็น “กำแพง” เพื่อให้คุณพึ่งพิงและมีความมั่นคงทั้งยามสุขและยามทุกข์ และอาจกล่าวได้ว่า นักสังคมสงเคราะห์ หรือ คนที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ไม่ว่าจะสาขาอาชีพใดก็ตาม พร้อมที่จะเข้าใจ ปรับตัว และ เคียงข้างเพื่อให้คุณสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีหลักประกันภายใต้ความเป็นพลเมืองและพลโลกของตนอย่างเป็นรูปธรรม
 


พบกันใหม่ตอนหน้า …. สวัสดีครับ
P’Jun  
ผู้ก่อตั้งเพจสรุปสังคม ม.ปลาย 4.0 By P’Jun